วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พูเดิ้ล (POODLE)


พูเดิ้ล Poodle
สุนัขมหาชน ที่คนค่อนโลกตกหลุมรัก

พูเดิ้ล เป็นสุนัขอีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่มีผู้นิยมเลี้ยงติดอันดับต้นๆของโลกมาหลายร้อยปี ด้วยเป็นสุนัขที่ฉลาด ฝึกง่าย ได้รับการขนานนามว่าเป็นสุนัขนักแสดงหรือ (trick dog) จึงมักพบเป็นพระเอกตามคณะละครสัตว์ อีกทั้งยังเป็นสุนัขที่รักสวยรักงาม และเลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะเห่าเก่งไปบ้างในบางเวลา แต่ด้วยนิสัยเฉพาะตัวที่ช่างประจบประแจง ขี้อ้อนทำให้หลายๆคน ตกหลุมรักเจ้าสุนัขสายพันธุ์นี้อย่างหมดหัวใจ

สุนัขพันธุ์นี้ไม่มีเอกสารอ้างอิงระบุให้ทราบถึงที่มาว่าถือกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมนีราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 สืบเนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานเป็นภาพวาดของสุนัขพูเดิ้ลที่วาดโดยจิตรกรชาวเยอรมัน Albrecht Durer ในศตวรรษที่ 15-16 เดิมที พูเดิ้ล ถูกเลี้ยงไว้ใช้งานในการล่าสัตว์ และมีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Pudel” หรือ “Pudelin” ซึ่งหมายความว่า “กระโดดน้ำ” นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเป็นภาพเขียนของจิตรกรชาวสเปน ชื่อ Francisco Goya ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงกระแสความนิยมเลี้ยง พูเดิ้ล ในสมัยนั้น

ขณะที่ในอังกฤษก็ปรากฏหลักฐานว่า เจ้าชายรูเพิร์ต (1619-1682) ซึ่งเป็นหลานชายของ พระเจ้าชาร์ลที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้รับสุนัขพูเดิ้ลสีขาวชื่อว่า “บอย” จาก Lord Arundell เอกอรรคราชทูตอังกฤษประจำกรุงเวียนนาเป็นของกำนัล ต่อมาได้กลายเป็นสุนัขคู่พระทัยโดยทรงนำออกร่วมรบบ่อยครั้งจนกระทั่งมันจบชีวิตลงในสมรภูมิ Marston Moor เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1644

แต่ถึงแม้จะมีต้นกำเนิดในเยอรมัน ทว่า “พูเดิ้ล” กลับกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในฝรั่งเศสโดยสมเด็จพระราชินีแอนน์ Queen Anne (1665-1714) ทรงโปรดพูเดิ้ลมาก ทั้งยังเป็นสุนัขคู่บารมีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (1754-1793) ที่ฝรั่งเศส พูเดิ้ลได้รับฉายานามใหม่ว่า “Caniche” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก “Chien Canard” หมายถึง “สุนัขล่าเป็ด”

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 พรานล่าเป็ดเริ่มเล็มขนที่หนาของพูเดิ้ลออกในบางจุด เพื่อช่วยให้สุนัขมีความคล่องตัวในการว่ายน้ำเพื่อไปคาบนกเป็ดน้ำ โดยจะคงปล่อยให้มีขนหนาปกคลุมบริเวณที่ไวต่อความเย็น แต่อย่างที่รู้กันดีว่าฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะชั้นนำของโลก ดังนั้น เมื่อหมดยุคการใช้สุนัขเพื่อล่าสัตว์ พูเดิ้ล จึงถูกจับแปลงโฉมด้วยการตัดแต่งขน และพัฒนามาจนเป็นแฟชั่นเหมือนดังเช่นปัจจุบัน เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พูเดิ้ลให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถนำใส่กระเป๋าหิ้วไปไหนมาไหนได้หรือที่เรียกกันว่า Toy Poodle ประกอบกับยังมีรายงานทางการแพทย์ออกมายืนยันว่าพูเดิ้ลยังเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพราะไม่ผลัดขน และหากได้รับการดูแลขนอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่ก่อให่เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เช่นเดียวกับสุนัขอื่นทั่วไป และนั่นทำให้กระแสคลั่งไคล้พูเดิ้ลของชาวเมืองน้ำหอมทวีคูณถึงขนาดยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติกันเลยทีเดียว และด้วยคุณลักษณะเด่นๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยหรือข้อได้เปรียบทางการแพทย์ของพูเดิ้ลทำให้ปัจจุบันมีการนำพูเดิ้ลไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขพันธุ์อื่น จนได้ลูกผสมออกมาเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ๆ อาทิ เช่น Cockapoo หรือ Spoodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิล กับ คอกเกอร์ สเปเนียล) Goldendoodle หรือ Groodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์) Labradoodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์) Pekipoos (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ Pekingese) เป็นต้น
มาตรฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป เป็นสุนัขที่ติดคน ช่างประจบประแจง ดื้อ ซน ขี้เล่น ฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือ นิสัยชอบเห่า พูเดิ้ลพันธุ์เล็ก (Toy Poodle) จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้าและมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานและขนาดกลาง พูเดิ้ลมาตรฐานและขนาดกลางถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Non Sporting Group ส่วนพูเดิ้ลขนาดเล็กจัดอยู่ในกลุ่ม Toy ทั้งหมดมีมาตรฐานสายพันธุ์เหมือนกัน ต่างกันก็เพียง “น้ำหนัก” และ “ความสูง” เท่านั้น
ปัจจุบันแบ่งออกตามขนาดเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
พูเดิ้ลมาตรฐาน (Standard Poodle) เป็นสุนัขขนาดใหญ่ สูงมากกว่า 15 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดของพูเดิ้ล
พูเดิ้ลขนาดกลาง (Miniature Poodle) เป็นสุนัขขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม
พูเดิ้ลขนาดเล็ก (Toy Poodle) เป็นสุนัขขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม
นอกจากนี้ปัจจุบันยังได้มีพูเดิ้ลขนาดจิ๋วที่เรียกกันติดปากว่า ทีคัพ (Tea-Cup Poodle) ซึ่งพบเกิดปะปนกับลูกสุนัขพูเดิ้ลทอยไม่บ่อยนัก โดยพูเดิ้ลทีคัพส่วยใหญ่จะสูงเพียง 6-8 นิ้ว (15 เซนติเมตร) หรือเล็กพอที่จะนำลูกสุนัขใส่ไว้ในถ้วยกาแฟได้สบายๆ น้ำหนักเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมแต่เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมากจึงทำให้ค่อนข้างเปราะบาง อ่อนแอ อีกทั้งยังพบว่า ไม่สามารถให้ลูกได้ ด้วยเหตุนี้ ทั้ง AKC และ FCI จึงไม่รับรองให้เป็นสุนัขพันธุ์แท้ โดยถือว่าเป็นสุนัขที่เกิดจากการกลายพันธุ์ ไม่มีความมั่นคงทางสายพันธุ์ และไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ปกติเช่นเดียวกับสุนัขสายพันธุ์อื่นๆนั่นเอง

ขน ขนสองชั้นดก แน่น หยาบ หยิก หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มักจะจับกันเป็นก้อนสังกะตัง ส่วนสีจะหลากหลายเฉด ตั้งแต่สีขาว สีน้ำตาลครีม สีทองแดง สีกาแฟ ไปจนถึงดำ แต่ต้องเป็นสีเดียวตลอดทั้งตัว บริเวณหูหรือขนส่วนบนอาจจะมีสีจางกว่าบริเวณอื่นๆได้ สุนัขสีน้ำตาลควรมีจมูก ขอบตา เล็บ ริมฝีปากสีน้ำตาลเข้ม สุนัข สีดำ เทา เงิน ครีม ขาว ควรมีจมูก เล็บ ขอบตา ริมฝีปากเป็นสีดำ

หัวกะโหลก มีลักษณะค่อนข้างกลม แก้มค่อนข้างแบน

หู ห้อยแนบชิดหัว โคนหูอยู่ในระดับต่ำกว่าตาเล็กน้อย หูมีขนยาว ใบหูค่อนข้างกว้าง และหนา แต่ความยาวของหูต้องไม่มากเกินไป

ตา รูปกลมรี สีเข้ม แววตาร่าเริง ตื่นตัวอยู่เสมอ

ดั้งจมูก (stop) มีมุมหักพอสมควร

ปาก (muzzle) ความยาวของปาก มีขนากใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก สันปากตรง แข็งแรง ริมฝีปากตึง ไม่ห้อยยาน
ฟัน ขาวแข็งแรง สบแบบกรรไกร

ลำตัว มองจากด้านข้าง มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความสูงของลำตัวมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของลำตัว เส้นหลังตรงอยู่ในแนวระดับ ส่วนเอว สั้น กว้าง ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ คอมีขนาดค่อนข้างยาว ดูสง่า อกลึก กว้างพอประมาณ

ขา เมื่อมองจากด้านหน้า ขาหน้าตองตั้งตรง ไม่โก่ง ขนานกันในระยะห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างขาหน้าอยู่ในแนวเดียวกันกับหัวไหล่ ขาหน้ามีกระดูกและกล้ามเนื้อสัมพันธ์กับขนาดของสุนัข ข้อเท้าแข็งแรง เท้ามีขนาดเล็ก รูปกลมรี ฝ่าเท้าหนา เท้าชี้ตรงไปด้านหน้า ไม่บิดซ้าย-ขวา นิ้วติ่ง นิยมตัดออก ขาหลังมองจากด้านหลัง ตั้งตรง ขนานกัน ท่อนบนมีกล้ามเนื้อมาก ข้อเท้าสั้น ตั้งฉาก กับพื้นข้อเท้าหลังทำมุมพอประมาณและสัมพันธ์กับลำตัวส่วนหน้าเหมือนเท้าหน้า

หาง โคนหางอยู่ในระดับสูง ตรงตั้ง นิยมตัดเพื่อให้สัมพันธ์กับโครงสร้าง

ข้อมูล : all breeds It’s about dogs A dogs lover free copy magazine 17th Issue December 2009 – January 2010
ภาพ : www.petplanet.co.uk




วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การให้อาหารสุนัข


การให้อาหารสุนัข
สุนัขที่ได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้เขา สมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ สุขภาพดี มีความสุข ดังนั้น อาหารแต่ละมื้อจึงควรเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับเขา ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นสัมพันธภาพระหว่างคุณกับเขาให้เหนียวแน่นขึ้น


ความสมดุลของอาหาร
สุนัขต้องการอาหารที่มีสมดุล ซึ่งควรประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่อีกหลายชนิด ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสุนัขสมบูรณ์ที่สุด


อาหารสุนัขที่คุณปรุงเอง การลงมือปรุงอาหารให้สุนัขกินเองนั้น ผู้ปรุงต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนว่า สารอาหารชนิดไหนที่จำเป็นสำหรับสุนัข เข้าใจถึงคุณค่าของสารอาหารที่มีในอาหารแต่ละชนิด และยังต้องเข้าใจโภชนาการที่มีผลกระทบต่อสุนัข รวมถึงกรรมวิธีในการปรุงและการจัดเก็บซึ่งมีผลต่อสารอาหารที่อยู่ในอาหารนั้นๆ


ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากหากจะทำอาหารให้สุนัขด้วยตัวคุณเองโดยหวังว่าเขาจะได้รับสาอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมต่อร่างกาย
เจ้าของสุนัขบางคนทำอาหารให้สุนัขเป็นบางมื้อเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ควรเพิ่มอาหารให้สุนัขอีก 2-3 อย่าง เพื่อให้ระบบย่อยของสุนัขได้มีการปรับตัวรับอาหารใหม่ๆบ้างแต่คุณจะต้องเสริมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆที่จำเป็นให้กับเขาอีกด้วย


อาหารสุนัขสำเร็จรูป
อาหารสุนัขสำเร็จรูปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีสูตรต่างๆมากมายให้เลือก และยังมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอตามที่สุนัขโตต้องการ อาหารสุนัขสำเร็จรูปมีให้เลือก 2 แบบ คือแห้ง และเปียก แบบแห้งจะเป็นชนิดที่ก่อนบรรจุแพ็คผู้ผลิตจะไล่ความชื้นออกให้หมดเพื่อความสะดวก เวลาให้สุนัขกิน ก็สามารถกินทั้งแห้งๆได้ หรือจะผสมน้ำก่อนก็ได้


ส่วนอาหารสำเร็จรูปแบบเปียกจะบรรจุอยู่ในกระป๋อง สามารถเปิดให้สุนัขกินได้ทันที แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดไหนคุณควรจะต้องเตรียมน้ำสะอาดให้สุนัขดื่มด้วยเสมอ และควรดูแลภาชนะของสุนัขให้สะอาดตลอดเวลา


กระดูก
กระดูกมีประโยชน์สำหรับสุนัขเพราะอุดมด้วยแคลเซี่ยม แต่ถ้าสุนัขของคุณได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องกระดูกเสริม อย่างไรก็ดี สุนัขชอบที่จะแทะกระดูกเล่น เพราะนอกจากรสชาติแล้ว แต่ควรระวังเพราะกระดูกอาจแตกเป็นชิ้นๆและถ้ากลืนลงไปอาจเกิดอันตรายกับอวัยวะภายในได้ ดังนั้นขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขที่ทำเป็นรูปกระดูก เช่น เพดดิกรี เดนต้นโบน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งปลอดภัยและช่วยขัดฟันให้กับสุนัขของคุณได้


คุณต้องมีความสุขในการเป็นเจ้าของสุนัข

ต้องเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดให้กับสุนัขของคุณโดยไม่มีเงื่อนไข สร้างความสัมพันธ์ ไม่กดดัน และตอบแทนเขาด้วยการให้เวลากับเขาเท่าที่คุณทำได้


การออกไปข้างนอกและเล่น
ไม่ว่าสุนัขของคุณจะเป็นพันธุ์ใด การได้ออกกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา การที่คุณได้เล่น เดิน หรือวิ่งไปพร้อมๆกับสุนัข จะทำให้ทั้งคุณและสุนัขมีสุขภาพแข็งแรง สุขภาพดี และยัง สร้างสัมพันธ์อันดีอีกด้วย


สัตวแพทย์ที่ดี คือสิ่งสำคัญ
วิธีการเลือกสัตวแพทย์ที่ดีที่สุด คือ สอบถามจากเพื่อนหรือผู้มีประสบการณ์มาก่อน การแนะนำปากต่อปากเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ จำไว้ว่าเพียงแค่ประกาศนียบัตรแพทย์ ไม่สามารถบ่งบอกถึงความชำนาญการ ความเก่งกาจได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคุณต้องไว้ใจและเชื่อมั่นว่าสัตวแพทย์คนนั้นๆจะให้การดูแลสุนัขของคุณได้อย่างมีสุขภาพดี


ฟังสุนัขบ้าง
ความใกล้ชิดจะทำให้คุณรู้ว่าเขาต้องการอะไร โดยรับรู้ผ่านภาษากาย ไม่ว่าจากเสียงหรือพฤติกรรมที่แสดงออกซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่คุณจะรู้ว่า เขารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร


ให้อาหารที่ดี
อาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัข เช่น เพดดีกรี ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับสุนัขทุกเพศ ทุกวัยในทุกๆพัฒนาการ ให้โภชนาการที่ดีแก่เขาในทุกๆคำ พร้อมรสชาติที่หลากหลายให้สุนัขอิ่มอร่อยอย่างมีสุขภาพดี


ที่มา : ข้อมูล -- คู่มือโตเป็นผู้ใหญ่ของเจ้าตูบที่คุณรัก ศูนย์ข้อมูลผู้บริโภค แผนกสัตว์เลี้ยง บริษัทเอฟเฟ็ม ไทยแลนด์ อิงค์ (เพดดีกรี)
ภาพ -- http://203.172.177.197/tonkla/tonkla626/140952/Dog.html






วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เคล็ดลับอายุยืนยาวสำหรับเจ้าตัวน้อย


คุณเคยลองสำรวจอายุของสมาชิกตัวน้อยๆบ้างไหมคะ ว่าเจ้าตัวน้อยในบ้านเรา อายุเท่าไหร่กันแล้ว พอเจอคำถามนี้ หลายคนอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อระลึกว่า นานเท่าไหร่แล้วที่เรามีเจ้าตัวน้อยอยู่ข้างกาย จากวันที่เดินเตาะแตะ จนเติบโตเป็นหนุ่มสาว สำหรับเจ้าตัวน้อยอาจดูไม่เปลี่ยนไปนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าตัวน้อยของเราเปลี่ยนแปลงเสมอ ในเรื่องของพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะในอายุที่เพิ่มขึ้น จากที่เคยฟิตแอนด์เฟิร์ม เมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะเชื่องช้าไม่แก่นเซี๊ยว ปราดเปรียวเหมือนวัยหนุ่มสาว จากสถิติโดยเฉลี่ยเจ้าตัวน้อยจะมีอายุระหว่าง 9-13 ปี หากเปรียบเทียบกับอายุคน ก็ราวๆ 70 ปี เรียกว่าหากเป็นคน ก็กลายเป็นคุณปู่ คุณย่ากันเลยทีเดียว แต่หากได้เจ้าของที่รักและเอาใจใส่ อายุเฉลี่ยของเจ้าตัวน้อย ก็จะยิ่งยืนยาวออกไปได้อีก ภายใต้เงื่อนไขสุดพิเศษ คือ ต้องกินดีอยู่ดี รูปร่างดี และไม่มีโรคภัย

อาหารดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
โภชนาการที่ดีคือปราการด่านแรกที่สำคัญยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นในการมีอายุยืนยาว หากเจ้าตัวน้อยได้หม่ำแต่ของดีมีประโยชน์ และมีนิสัยการหม่ำที่ดี รับรองว่าห่างไกลโรคแน่นอน ยิ่งทุกวันนี้มีอาหารสำเร็จรูปที่ได้รับการคิดค้นให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน พร้อมกลิ่นและรสชาติที่ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เจ้าของจึงวางใจได้ในเรื่องความปลอดภัย แต่ต้องใจแข็งสักนิด ให้ในปริมาณที่เหมาะสมกับกิจกรรม ไม่เกิน 2 มื้อต่อวัน ไม่เช่นนั้น เจ้าตัวน้อยอาจกลายร่างเป็นน้องหมูเอาได้ อาหารสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในการสร้างความมั่นใจให้เจ้าของ อีกเรื่องหนึ่งคือฝึกไม่ให้พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้เจ้าตัวน้อยคิดแต่เรื่องกินตลอดเวลา และกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในการออกแบบอาหารเจ้าของควรปรับให้เข้าแต่ละช่วงชีวิต เช่นเจ้าตัวน้อยรุ่นปู่ย่าควรได้รับอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ หรือควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ หรือเจ้าของอย่างเราๆก็สามารถเลือกอาหารจากผลิตภัณฑ์ของซีซาร์ได้อีกมากมาย ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วน นอกจากนี้ควรจัดหากิจกรรมที่ทำให้เจ้าตัวน้อยได้ยืดเส้นยืดสาย เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวา และความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ

สร้างสุขอนามัยที่ดีในชีวิตประจำวัน
เคยเห็นเจ้าตัวน้อยกลิ้งและถูตัวไปมาตามพื้นไหมคะ นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าเจ้าตัวน้อยเป็นเด็กรักสะอาด แต่ถ้าไปกลิ้งผิดที่ เจ้าของก็ต้องรับหน้าที่ ดูแลอาบน้ำให้เจ้าตัวน้อย การอาบน้ำรักษาความสะอาดจะทำให้เจ้าตัวน้อยห่างไกลเชื้อโรค และศัตรูตัวร้ายอย่างเห็บหมัด รวมถึงการแปรง การถอนและการเล็มขนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค การดูแลทำความสะอาดในส่วนเล็กๆตามร่างกายอย่างการแปรงฟัน การตัดเล็บ ก็มีส่วนส่งเสริมให้เจ้าตัวน้อยมีสุขอนามัยที่ดี ซึ่งต้องเป็นการฝึกให้เคยชินตั้งแต่เด็ก เรื่องของสุขอนามัยนี้ รวมทั้งเรื่องการจัดที่ทางในการขับถ่าย การหม่ำ การนอนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เรียกว่าทุกกิจวัตรประจำวันของเจ้าตัวน้อยมีส่วนในการป้องกันโรคร้ายและสร้างเสริมความฟิตได้ทั้งสิ้น

ทำวัคซีนให้ครบ พบคุณหมอเป็นประจำ
ในการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เมื่ออยากเลี้ยงคือการทำวัคซีนตามโปรแกรมที่คุณหมอวางไว้อย่างเคร่งครัด เพราะด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ทุกฤดูกาล การป้องกันด้วยการทำวัคซีนเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่หากเกิดความผิดปกติ เช่น อาการซึม ไม่หม่ำอาหารติดต่อกัน 2-3 มื้อ จนผิดสังเกต ให้รีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจอย่างละเอียดและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ในกรณีที่เจ้าตัวน้อยสมบูรณ์แข็งแรงดี ก็ยังต้องพาไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยสูงอายุ อาจต้องตรวจเช็คทุก 4-6 เดือน หรือตามนัดหมาย โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องอยู่ใกล้หมอมากเป็นพิเศษ

ดูแลจิตใจ ไม่ให้เป็นน้องหมาขี้เหงา
ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่เจ้าตัวน้อย เพียงวันละเล็กละน้อยก็ทำให้หัวใจน้อยๆพองโตและมีความสุข เจ้าตัวน้อยก็ไม่ต่างจากเราที่นอกจากต้องการสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว สุขภาพใจก็มีส่วนสำคัญในการยืดอายุ เจ้าตัวน้อยที่มีสุขภาพจิตดี จะสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เป็นปกติ ไม่ก้าวร้าว ทำลายข้างของ มักจะรู้จักระงับอารมณ์และอยู่เพียงลำพังได้ ไม่ว่าเจ้าตัวน้อยจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่าช่วงที่มีชีวิตอยู่ เข้าได้รับความรักและการดูแลที่ดีที่สุดจากเจ้าของ อย่าลืมมอบความรักให้เจ้าตัวน้อยของคุณทุกวันนะคะ ^_^

ขอบคุณ ข้อมูลดีๆ จาก CESAR CLUB -- MY CESAR ISSUE 14 / SEPTEMBER 2009