วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

+ ผ่าตัดหัวใจ ด้วยใจ + ศูนย์หัวใจ รพ.สัตว์ทองหล่อ


หลายคนคงนึกว่าเป็นเรื่องล้อเล่นเมื่อได้ยินใครบอกว่าสุนัขของเขาป่วย เป็นโรคหัวใจ แต่เมื่อได้ทราบความจริงก็คงขำไม่ออก เพราะสุนัขก็มีสิทธิ์ป่วยเป็นโรคหัวใจได้เหมือนกับคนเราจริงๆ และเมื่อนึกถึงโรคหัวใจ หลายๆท่านก็คงคิดต่อไปว่า คงเกิดกับสุนัขที่มีอายุมากคล้ายๆกับที่พบในคน แต่ในความเป็นจริงโรคหัวใจเกิดขึ้นได้กับทั้งคนและสุนัขที่เพิ่งลืมจาดูโลกไปจนถึงคนหรือสุนัขอายุเยอะๆ ดังเช่น ในรายของสุนัขชื่อ “Tinger Bell” พันธุ์ Maltese เพศเมีย อายุ 4 เดือน ของคุณแพรวพรรณ รอดโพธิ์ทอง (คุณแม่ของอดีตนักร้องสาวชื่อดังไบรโอนี่) ที่ป่วยเป็นภาวะหัวใจพิการตั้งแต่เกิด ที่เรียกว่าโรค Patent Ductus Arteriosus (PDA) หรือภาวะหลอดเลือดเกิน


เจ้าของสุนัขกล่าวว่า “โรคหัวใจของ Tinger Bell นั้น ได้ตรวจพบครั้งแรกตั้งแต่อายุได้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งตอนนั้นยังอยู่อเมริกา โดยสัตวแพทย์ที่นั่นได้แนะนำว่าอาจจะต้องทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรค และทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งถ้าถามว่า Tinger Bell มีอาการผิดปกติใดๆ หรือไม่ บอกได้เลยว่าตอนนั้นไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย แต่หากปล่อยไว้เมื่อถึงอายุหนึ่งก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้”


Tinger Bell ถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ โดยขั้นแรกทีมแพทย์ศูนย์หัวใจได้ทำการวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคเพิ่มเติมโดยการ X-Ray ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งก็ได้รับผลยืนยันว่าเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจริงๆ และการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็คือต้องทำการผ่าตัด ซึ่งถึงจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และหลังการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมง Tinger Bell ก็รู้สึกตัว วันรุ่งขึ้นก็สามารถกินอาหารได้ อาการโดยรวมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ


โรค Patent Ductus Arteriosus (PDA) คือโรคหัวใจแต่กำเนิด ที่มีภาวะหลอดเลือดเกิน มักพบภาวะดังกล่าวได้ในลูกสุนัขพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา มอลทีส พูเดิ้ล เยอรมันเชฟเพิร์ด ยอร์คเชียร์ เทอร์เรียร์ เป็นต้น โดยปกติ Ductus Arteriosus เป็นหลอดเลือดที่พบในลูกสุนัขขณะยังอยู่ในท้องแม่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทางลัดนำเลือดผ่านไปยังตัวลูก โดยไม่ต้องผ่านไปยังปอด เพราะปอดของลูกสุนัขยังไม่ทำงานนั่นเอง โดยหลอดเลือดดังกล่าว จะต้องปิดตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากคลอดออกมาจากท้องแม่ หากมีการบกพร่องของกลไกการปิดตัวจะทำให้เกิดภาวะ PDA หรือภาวะหลอดเลือดเกินขึ้น การคงเหลืออยู่ของหลอดเลือดดังกล่าว ทำให้เกิดเลือดรั่วจากบริเวณที่มีแรงดันสูง ผ่าน PDA ไปยัง บริเวณที่มีแรงดันต่ำกว่า หัวใจด้านล่างซ้ายจึงต้องทำงานมากกว่าปกติ เพื่อที่จะบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ให้พอเพียง มีผลทำให้หัวใจด้านซ้ายมีขนาดใหญ่ขึ้น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดของรูรั่ว หากรูรั่วมีขนาดเล็ก ลูกสุนัขอาจจะไม่มีอาการใดๆเลย หรือมีอาการน้อย เช่น เหนื่อยง่าย หากรูรั่วมีขนาดใหญ่ก็จะทำให้มีอาการหอบ ไอ เยื่อเมือกซีด และหมดสติ


ส่วนการวินิจฉัยโรคสามารถทำได้หลายวิธีร่วมกัน เช่น
1. การฟังเสียงหัวใจ ซึ่งมักจะพบเสียงหัวใจผิดปกติ แบบต่อเนื่อง (Continuous mur mur)
2. การ X-Ray ช่องอก
3. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
4. การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี (Cardiac Angiography)

การรักษามีอยู่หลายวิธี เช่น
การใส่อุปกรณ์อุดเส้นเลือดผ่านทางสายสวน (Transcather coil nitnol wire mesh occluder)
การรักษาแบบประคับประคองโดยการใช้ยาลดภาวะ หัวใจวาย
แต่การรักษาที่จะมีประสิทธิภาพมาก คือการรักษาโดยการผ่าตัด และจะมีประสิทธิภาพมากหากทำการผ่าตัดแก้ไขในขณะที่ลูกสุนัขยังเล็กอยู่ก่อนที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หากปล่อยไว้สุนัขจะแสดง อาการของโรคภายใน 1 ปี ในกรณีของ Tinger Bell ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าตัดปิด PDA แบบ Close Surgery ซึ่งการผ่าตัดจะมีการเปิดแผลเล็กเพียง 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้มีการเสียเลือดน้อยระหว่างผ่าตัด แผลหายเร็ว การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาน้อยเพียง 4-5 วันเท่านั้น ความสำเร็จในการผ่าตัดโรค Patent Ductus Arteriosus (PDA) หรือ ภาวะหลอดเลือดเกินในครั้งนี้ถือว่าเป็นการผ่าตัดหัวใจในสุนัขครั้งแรกที่อาศัยความร่วมมือระหว่างทีมสัตวแพทย์ในคลินิกต่างๆของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ และศัลยแพทย์โรคหัวใจในเด็ก ที่มองเห็นจุดหมายเดียวกัน คือ “การรักษาชีวิตด้วยหัวใจ”

ที่มา : ทีมสัตวแพทย์ทองหล่อ / ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
Dogy Clinic คลินิกหมอตูบ / all breeds It’s about dogs A dogs lover free copy magazine 17th Issue December 2009 – January 2010
ภาพ :
http://mamha.com/knowledge/view_knowledge.php?id=2