วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พูเดิ้ล (POODLE)


พูเดิ้ล Poodle
สุนัขมหาชน ที่คนค่อนโลกตกหลุมรัก

พูเดิ้ล เป็นสุนัขอีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่มีผู้นิยมเลี้ยงติดอันดับต้นๆของโลกมาหลายร้อยปี ด้วยเป็นสุนัขที่ฉลาด ฝึกง่าย ได้รับการขนานนามว่าเป็นสุนัขนักแสดงหรือ (trick dog) จึงมักพบเป็นพระเอกตามคณะละครสัตว์ อีกทั้งยังเป็นสุนัขที่รักสวยรักงาม และเลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะเห่าเก่งไปบ้างในบางเวลา แต่ด้วยนิสัยเฉพาะตัวที่ช่างประจบประแจง ขี้อ้อนทำให้หลายๆคน ตกหลุมรักเจ้าสุนัขสายพันธุ์นี้อย่างหมดหัวใจ

สุนัขพันธุ์นี้ไม่มีเอกสารอ้างอิงระบุให้ทราบถึงที่มาว่าถือกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมนีราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 สืบเนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานเป็นภาพวาดของสุนัขพูเดิ้ลที่วาดโดยจิตรกรชาวเยอรมัน Albrecht Durer ในศตวรรษที่ 15-16 เดิมที พูเดิ้ล ถูกเลี้ยงไว้ใช้งานในการล่าสัตว์ และมีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Pudel” หรือ “Pudelin” ซึ่งหมายความว่า “กระโดดน้ำ” นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเป็นภาพเขียนของจิตรกรชาวสเปน ชื่อ Francisco Goya ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงกระแสความนิยมเลี้ยง พูเดิ้ล ในสมัยนั้น

ขณะที่ในอังกฤษก็ปรากฏหลักฐานว่า เจ้าชายรูเพิร์ต (1619-1682) ซึ่งเป็นหลานชายของ พระเจ้าชาร์ลที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้รับสุนัขพูเดิ้ลสีขาวชื่อว่า “บอย” จาก Lord Arundell เอกอรรคราชทูตอังกฤษประจำกรุงเวียนนาเป็นของกำนัล ต่อมาได้กลายเป็นสุนัขคู่พระทัยโดยทรงนำออกร่วมรบบ่อยครั้งจนกระทั่งมันจบชีวิตลงในสมรภูมิ Marston Moor เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1644

แต่ถึงแม้จะมีต้นกำเนิดในเยอรมัน ทว่า “พูเดิ้ล” กลับกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในฝรั่งเศสโดยสมเด็จพระราชินีแอนน์ Queen Anne (1665-1714) ทรงโปรดพูเดิ้ลมาก ทั้งยังเป็นสุนัขคู่บารมีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (1754-1793) ที่ฝรั่งเศส พูเดิ้ลได้รับฉายานามใหม่ว่า “Caniche” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก “Chien Canard” หมายถึง “สุนัขล่าเป็ด”

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 พรานล่าเป็ดเริ่มเล็มขนที่หนาของพูเดิ้ลออกในบางจุด เพื่อช่วยให้สุนัขมีความคล่องตัวในการว่ายน้ำเพื่อไปคาบนกเป็ดน้ำ โดยจะคงปล่อยให้มีขนหนาปกคลุมบริเวณที่ไวต่อความเย็น แต่อย่างที่รู้กันดีว่าฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะชั้นนำของโลก ดังนั้น เมื่อหมดยุคการใช้สุนัขเพื่อล่าสัตว์ พูเดิ้ล จึงถูกจับแปลงโฉมด้วยการตัดแต่งขน และพัฒนามาจนเป็นแฟชั่นเหมือนดังเช่นปัจจุบัน เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พูเดิ้ลให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถนำใส่กระเป๋าหิ้วไปไหนมาไหนได้หรือที่เรียกกันว่า Toy Poodle ประกอบกับยังมีรายงานทางการแพทย์ออกมายืนยันว่าพูเดิ้ลยังเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพราะไม่ผลัดขน และหากได้รับการดูแลขนอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่ก่อให่เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เช่นเดียวกับสุนัขอื่นทั่วไป และนั่นทำให้กระแสคลั่งไคล้พูเดิ้ลของชาวเมืองน้ำหอมทวีคูณถึงขนาดยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติกันเลยทีเดียว และด้วยคุณลักษณะเด่นๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยหรือข้อได้เปรียบทางการแพทย์ของพูเดิ้ลทำให้ปัจจุบันมีการนำพูเดิ้ลไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขพันธุ์อื่น จนได้ลูกผสมออกมาเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ๆ อาทิ เช่น Cockapoo หรือ Spoodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิล กับ คอกเกอร์ สเปเนียล) Goldendoodle หรือ Groodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์) Labradoodle (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์) Pekipoos (ลูกผสมระหว่าง พูเดิ้ล กับ Pekingese) เป็นต้น
มาตรฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป เป็นสุนัขที่ติดคน ช่างประจบประแจง ดื้อ ซน ขี้เล่น ฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือ นิสัยชอบเห่า พูเดิ้ลพันธุ์เล็ก (Toy Poodle) จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้าและมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐานและขนาดกลาง พูเดิ้ลมาตรฐานและขนาดกลางถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Non Sporting Group ส่วนพูเดิ้ลขนาดเล็กจัดอยู่ในกลุ่ม Toy ทั้งหมดมีมาตรฐานสายพันธุ์เหมือนกัน ต่างกันก็เพียง “น้ำหนัก” และ “ความสูง” เท่านั้น
ปัจจุบันแบ่งออกตามขนาดเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
พูเดิ้ลมาตรฐาน (Standard Poodle) เป็นสุนัขขนาดใหญ่ สูงมากกว่า 15 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดของพูเดิ้ล
พูเดิ้ลขนาดกลาง (Miniature Poodle) เป็นสุนัขขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม
พูเดิ้ลขนาดเล็ก (Toy Poodle) เป็นสุนัขขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม
นอกจากนี้ปัจจุบันยังได้มีพูเดิ้ลขนาดจิ๋วที่เรียกกันติดปากว่า ทีคัพ (Tea-Cup Poodle) ซึ่งพบเกิดปะปนกับลูกสุนัขพูเดิ้ลทอยไม่บ่อยนัก โดยพูเดิ้ลทีคัพส่วยใหญ่จะสูงเพียง 6-8 นิ้ว (15 เซนติเมตร) หรือเล็กพอที่จะนำลูกสุนัขใส่ไว้ในถ้วยกาแฟได้สบายๆ น้ำหนักเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมแต่เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมากจึงทำให้ค่อนข้างเปราะบาง อ่อนแอ อีกทั้งยังพบว่า ไม่สามารถให้ลูกได้ ด้วยเหตุนี้ ทั้ง AKC และ FCI จึงไม่รับรองให้เป็นสุนัขพันธุ์แท้ โดยถือว่าเป็นสุนัขที่เกิดจากการกลายพันธุ์ ไม่มีความมั่นคงทางสายพันธุ์ และไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ปกติเช่นเดียวกับสุนัขสายพันธุ์อื่นๆนั่นเอง

ขน ขนสองชั้นดก แน่น หยาบ หยิก หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มักจะจับกันเป็นก้อนสังกะตัง ส่วนสีจะหลากหลายเฉด ตั้งแต่สีขาว สีน้ำตาลครีม สีทองแดง สีกาแฟ ไปจนถึงดำ แต่ต้องเป็นสีเดียวตลอดทั้งตัว บริเวณหูหรือขนส่วนบนอาจจะมีสีจางกว่าบริเวณอื่นๆได้ สุนัขสีน้ำตาลควรมีจมูก ขอบตา เล็บ ริมฝีปากสีน้ำตาลเข้ม สุนัข สีดำ เทา เงิน ครีม ขาว ควรมีจมูก เล็บ ขอบตา ริมฝีปากเป็นสีดำ

หัวกะโหลก มีลักษณะค่อนข้างกลม แก้มค่อนข้างแบน

หู ห้อยแนบชิดหัว โคนหูอยู่ในระดับต่ำกว่าตาเล็กน้อย หูมีขนยาว ใบหูค่อนข้างกว้าง และหนา แต่ความยาวของหูต้องไม่มากเกินไป

ตา รูปกลมรี สีเข้ม แววตาร่าเริง ตื่นตัวอยู่เสมอ

ดั้งจมูก (stop) มีมุมหักพอสมควร

ปาก (muzzle) ความยาวของปาก มีขนากใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก สันปากตรง แข็งแรง ริมฝีปากตึง ไม่ห้อยยาน
ฟัน ขาวแข็งแรง สบแบบกรรไกร

ลำตัว มองจากด้านข้าง มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความสูงของลำตัวมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของลำตัว เส้นหลังตรงอยู่ในแนวระดับ ส่วนเอว สั้น กว้าง ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ คอมีขนาดค่อนข้างยาว ดูสง่า อกลึก กว้างพอประมาณ

ขา เมื่อมองจากด้านหน้า ขาหน้าตองตั้งตรง ไม่โก่ง ขนานกันในระยะห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างขาหน้าอยู่ในแนวเดียวกันกับหัวไหล่ ขาหน้ามีกระดูกและกล้ามเนื้อสัมพันธ์กับขนาดของสุนัข ข้อเท้าแข็งแรง เท้ามีขนาดเล็ก รูปกลมรี ฝ่าเท้าหนา เท้าชี้ตรงไปด้านหน้า ไม่บิดซ้าย-ขวา นิ้วติ่ง นิยมตัดออก ขาหลังมองจากด้านหลัง ตั้งตรง ขนานกัน ท่อนบนมีกล้ามเนื้อมาก ข้อเท้าสั้น ตั้งฉาก กับพื้นข้อเท้าหลังทำมุมพอประมาณและสัมพันธ์กับลำตัวส่วนหน้าเหมือนเท้าหน้า

หาง โคนหางอยู่ในระดับสูง ตรงตั้ง นิยมตัดเพื่อให้สัมพันธ์กับโครงสร้าง

ข้อมูล : all breeds It’s about dogs A dogs lover free copy magazine 17th Issue December 2009 – January 2010
ภาพ : www.petplanet.co.uk




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น